History

ประวัติของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม

 สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 จากการยุบรวม สำนักศิลปวัฒนธรรม และ ศูนย์ภาษา เข้าด้วยกัน มีภารกิจ คือ

  1. พัฒนาทักษะทางด้านภาษาอังกฤษและสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมต่างประเทศ
  2. ทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
  3. ส่งเสริม พัฒนาและประยุกต์องค์ความรู้ทางด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคม
  4. ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองทางด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรม
  5. ส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมสวนดุสิต

ในปัจจุบัน ดร.พันธรักษ์ ผูกพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2559) ซึ่งสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมให้บริการด้านภาษาและวัฒนธรรม เช่น

  1. การจัดอบรมภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา บุคลากรและบุคคลภายนอก
  2. การจัดสอบวัดสัมฤทธิภาพด้านภาษาอังกฤษ (TOEIC และ SDU–TEST) และภาษาจีน (HSK และ HSKK)
  3. ศูนย์การแปล ให้บริการแปลเอกสารเชิงวิชาการและเอกสารทั่วไป
  4. ศูนย์การเรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง (Self–Access Language Learning Center) ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองของนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย
  5. การจัดอบรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับนักศึกษา บุคลากรและบุคคลภายนอก เช่น การอบรมนาฏศิลป์ตะวันตก (บัลเล่ต์) สำหรับเด็กปฐมวัย การอบรมด้านศิลปะประดิษฐ์
  6. การเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมด้วย Infographic
  7. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่นตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อพ.สธ.-มสด.)
  8. การจัดกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีไทยในเทศกาลต่างๆ
  9. การจัดทำสื่อมัลติมีเดียเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองด้านศิลปวัฒนธรรมและวัฒนธรรมสวนดุสิต เช่น การแต่งกายของนักศึกษาและมารยาทไทย 

การดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีความโดดเด่นมาตั้งแต่สมัยโรงเรียนการเรือนพระนคร ซึ่งคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ อาจารย์ใหญ่ในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่มจัดงานชุมนุมแม่บ้านการเรือนขึ้นในปี พ.ศ. 2501 มีวัตถุประสงค์เป็นศูนย์กลางของการชุมนุมและเผยแพร่ความรู้ด้านคหกรรมศาสตร์ของแม่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีชื่อเสียง ตลอดจนประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นงานที่แสดงผลงานสร้างสรรค์ของอาจารย์และนักศึกษา เช่น ด้านการจัดดอกไม้ งานศิลปะประดิษฐ์ และงานครัว เป็นต้น

ปี พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูสวนดุสิตยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และจัดตั้งสำนักศิลปวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานในสังกัดฝ่ายวางแผนและพัฒนา มีภารกิจหลัก คือ บริการสังคมในด้านของการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมี รองศาสตราจารย์มณีรัตน์ จันทนะผะลิน เป็นผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมในขณะนั้น งานที่มีความโดดเด่น คือ การจัดกิจกรรมด้านศิลปะประดิษฐ์ โดยเฉพาะงานเครื่องแขวนไทยดอกไม้สดและดอกไม้ประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2539 สำนักศิลปวัฒนธรรมมีการจัดนิทรรศการ “ดอกบัวกับชีวิตไทย” เพื่อสะท้อนคุณค่าของดอกบัวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่โบราณและสื่อสารความเป็นสวนดุสิตให้ประจักษ์แก่สายตาบุคคลทั่วไป

ในสมัยอาจารย์ภารดี สุขเกษม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม ได้มีการแบ่งส่วนงานตามภารกิจต่างๆ และกำหนด ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมายของหน่วยงาน ตลอดจนกลยุทธ์ในการปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน สอดคล้องกับทิศทางของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานส่งผลให้การบริหารจัดการงานด้านศิลปวัฒนธรรมมีความเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้มีการสร้างสรรค์ศิลปะการประดิษฐ์เทียนเป็นดอกไม้ สัตว์ กระทงเทียน และมีการบูรณาการงานเครื่องแขวนไทยเข้ากับเทียนประดิษฐ์ และนำเสนอในรูปแบบของโคมไฟต่างๆ ภายใต้ชื่องานนิทรรศการ “ชวาลา ราตรี วิถีไทย” และมีการเปิดอบรมวิชาชีพให้กับบุคคลภายนอกด้านศิลปะประดิษฐ์ เช่น เทียนหอม การจัดดอกไม้สด การแกะสลักผักและผลไม้ งาน mini flower หรืองานปั้นดอกไม้จากดิน และการอบรมอาหารไทย ตลอดจนจัดทำวารสารเสียงวัฒนธรรม ทั้งในรูปแบบเอกสารและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงงานวิจัยด้านศิลปะประดิษฐ์

สำนักศิลปวัฒนธรรมในช่วงอาจารย์เอื้อมพร เนาว์เย็นผล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการได้นำศิลปะการแสดงของไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศ เช่น ประเทศบัลแกเรีย (Bulgaria) ประเทศโปแลนด์ (Poland) เป็นต้น จัดนิทรรศการแสดงศิลปะประดิษฐ์ ขนมไทยและดนตรีนาฏศิลป์ไทยให้กับหน่วยงานภายนอก จัดกิจกรรมอบรมนาฏศิลป์ไทยและตะวันตก (บัลเล่ต์) ให้กับนักเรียนของโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ  เป็นการดำเนินงานของสำนักศิลปวัฒนธรรมก่อนยุบรวมหน่วยงานเป็น สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม

 ภาพผลงานศิลปะประดิษฐ์ในสมัยวิทยาลัยครูสวนดุสิต


การแสดงเครื่องแขวนไทยที่หอวัฒนธรรมวิทยาลัยครูสวนดุสิต ในงานเอกลักษณ์ไทย ปี พ.ศ. 2523


กลิ่นจระเข้


นักศึกษารุ่นพี่ช่วยกันทำบายศรีกันใหญ่ ในการควบคุมของอาจารย์มณีรัตน์ จันทนะผะลิน
เพื่อรับขวัญน้องใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2525


ดอกไม้จากเปลือกข้าวโพด รังไหม และใบตะโก นิทรรศการผลงานจากเศษวัสดุที่เรือนกระจก
ในงานเอกลักษณ์ 2521 ที่เห็นในภาพคือ อาจารย์มณีรัตน์ จันทนะผะลิน


บายศรีปากชาม

ที่มารูปภาพ : http://ebooks.dusit.ac.th/sdubook/ob-content.nsp?
view=IKNOW&db0=RareBook&cid_bookid=200506231617208120000006502
&cid_chapid=10000000006&sortfield=recid&sortorder=ASCENDING&numresults=10000

การดำเนินงานของศูนย์ภาษา (Language Center) รับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ภาษาต่างประเทศให้นักศึกษามีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ทั้งในชีวิตประจำวันและงานอาชีพได้เป็นอย่างดี และมีความรู้ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้นข้อมูลและสื่อสาร โดยสถาบันราชภัฏสวนดุสิตในขณะนั้นกำหนดให้ศูนย์ภาษา (Language Center) มีภารกิจ คือ

  1. จัดการทดสอบ อบรม และประเมินผลภาษาอังกฤษของนักศึกษา
  2. จัดอบรมภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษารัสเซีย ภาษาเกาหลี ให้กับอาจารย์ นักศึกษาและผู้สนใจ
  3. จัดบริการโปรแกรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเอง
  4. จัดบริการความรู้ตามอัธยาศัยในรายการ “Talk of The Town” โดยออกอากาศทางโทรทัศน์วงจรปิดของสถาบัน ฯ ในเวลา 00 น. เป็นประจำทุกวัน

ที่มา: (1) http://www.dusit.ac.th/department/culture/ch15.htm,ตามรอยศิลปวัฒนธรรม
ของสวนดุสิต อาจารย์ภารดี สุขเกษม
(2) http://ebooks.dusit.ac.th/sdubook/detail.nsp?view=IKNOW&db0=PrintedMedia
Text&query0=%C8%D9%B9%C2%EC%C0%D2%C9%D2&field0=&docid=&cid_bookid=2004
12071158190930000004516&cid_chapid=10000000002&sortfield=recid&sortorder=ASCE
NDING&numresults=10000&recid=10000000023&var_rank=10

การดำเนินงานของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ในสมัยผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิชัย ธาดานิติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (พ.ศ. 2548-2552) ให้ความสำคัญกับภารกิจด้านการบริการวิชาการให้กับนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย การจัดอบรมภาษาอังกฤษให้กับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน    เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย บริษัท King Power และบริษัททูน่ากระป๋อง เป็นต้น นอกจากนี้มีการจัดประชุมสัมมนาด้านศิลปวัฒนธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่องาน “ดุสิตาวิชาการ”

ดร.วนิดา อัญชลีวิทยกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม (พ.ศ. 2552–2558) สนับสนุนให้หน่วยงานสร้างผลงานที่โดดเด่นด้านภาษาต่างประเทศ และด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น

  1. การจัดอบรมภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาและบุคลากร
  2. การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง (Self–Access Language Learning Center)
  3. การพัฒนาข้อสอบและการจัดสอบ SDU–TEST
  4. การจัดทำแผนพัฒนานักศึกษาด้านภาษาอังกฤษ โดยจัดสอบเพื่อวัดความรู้ภาษาอังกฤษของนักศึกษา
  5. การจัดทำ Website ของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยเน้นการสอน ภาษาอังกฤษ TOEIC อย่างง่าย
  6. การจัดงานประชุมสัมมนาดุสิตาวิชาการ โดยพัฒนาให้เป็นงานประชุมวิชาการในระดับนานาชาติ (international conference)
  7. การจัดทำแผนงานสร้างเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นครั้งแรกโดย สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมได้รับมอบหมายให้ดูและและจัดสรรงบประมาณด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
  8. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (อพ.สธ.-มสด.) โดยได้จัดแสดงและประกวดผลงานผลิตภัณฑ์โครงการ อพ.สธ.-มสด ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ
  9. โครงการทำบุญประจำปี ณ พระตำหนักเยาวภา ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี โดยเชิญ ผู้บริหาร อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วร่วมงาน
  10. โครงการประกวดดนตรีไทยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558
  11. งานบริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น การสอนจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น (อิเคบานะ) โดยวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่น การสอนชงชาแบบญี่ปุ่น โดยวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่น การสอนงานด้านศิลปะประดิษฐ์ให้กับนักศึกษาและบุคลากรที่สนใจ ตามเทศกาลต่างๆเช่น การห่อของขวัญเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ผลิตเครื่องหอมและน้ำอบไทย การจัดตกแต่งเทียนพรรษา การผลิตกระทงเทียนหอม การจัดอบรมด้านศิลปะประดิษฐ์ให้กับบุคคลภายนอก เช่น การสอนจัดดอกไม้สด การสอนร้อยมาลัยดอกไม้สด การแกะสลักผักและผลไม้ การจัดอบรมนาฏศิลป์ตะวันตก (บัลเล่ต์) สำหรับเยาวชน การจัดงาน high tea จิบน้ำชายามบ่าย

ที่มา: บทสัมภาษณ์ ดร.วนิดา อัญชลีวิทยกุล, อาจารย์ลลิตา พูลทรัพย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฤณัต นัจนฤตย์, อาจารย์เอื้อมพร เนาว์เย็นผล, ดร.สรพล จิระสวัสดิ์

จัดทำโดย นายธนวัฒน์ รัตนเดโช